โบราณสถานวัดเขาพลอยแหวน

ชื่อสถานสำคัญ : วัดเขาพลอยแหวน

ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ตำบลพลอยแหวน เลขที่ 30 หมู่ที่ 4 ตำบลพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี (ตั้งอยู่บนเนินเขาระหว่างตำบลบ่อพุ และตำบลท่าใหม่)

ก่อสร้างเมื่อ : จุลศักราช 1183 (พ.ศ.2364)         

ประวัติ                   

วัดเขาพลอยแหวน  อำเภอท่าใหม่  จังหวัดจันทบุรี  ในอดีตเป็นวัดเล็กๆ  เรียกว่า วัดเชิงเนิน  ซึ่งหลวงพ่อหมีท่านได้ธุดงค์มาพัก และพบว่าเป็นสถานที่เงียบสงบดี  จึงได้ก่อสร้างเป็นวัดเขาพลอยแหวน  เมื่อจุลศักราช 1183  (พ.ศ.2364)  สมัยต่อมาปี  พ.ศ.2440  ทางราชการได้รวมบ้านเขาพลอยแหวน และบ้านโขมง  ตั้งเป็นอำเภอบ้านเขาพลอยแหวน มีหลวงศรีรองเมืองเป็นนายอำเภอและมีพระธรรมวงศาจารย์ เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาพลอยแหวนและเป็นเจ้าคณะมณฑลจันทบุรี การก่อสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุนั้น  สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยหลวงพ่อหมี เช่น  เจดีย์ที่ปรากฏอยู่บนยอดเขา  อุโบสถ  สันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2370 ในสมัยพระครูสังฆปาโมกข์  เป็นเจ้าอาวาส  และเป็นเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2445 พระธรรมวงศาจารย์เจ้าอาวาส และเจ้าคณะมณฑลจันทบุรี  ได้ทำการสร้างใหม่โดยมี รอยจารึกที่ซุ้มสีมาเป็นหลักฐาน  ปี พ.ศ. 2510 พระอธิการบุญเหลือ ไพพินิจ ทำการสร้างใหม่ แต่ท่านสร้างไม่ทันเสร็จ ก็ลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสไปจำพรรษาที่อื่น พระอาจารย์ถมยาโฆสโก  มารักษาการแทน  เจ้าอาวาส ก็ได้ทำการสร้างต่อแต่ไม่ทันเสร็จ ก็ลาสิกขาบทเสียปี พ.ศ. 2518 พระครูถาวรธรรมุเทศก์ เป็น  เจ้าอาวาส จึงได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จและผูกพัทธสีมา ในปี พ.ศ. 2530 ในปัจจุบัน วัดเขาพลอยแหวน  ตั้งอยู่บนที่สูงระหว่างทางจากตัวเมืองจันทบุรี ไปอำเภอท่าใหม่ เหตุที่เรียกเขาลูกนี้ว่า เขาพลอยแหวน ก็ด้วยแหตุผลที่ว่า บริเวณโดยรอบมีแร่พลอยสีต่างๆ เกิดขึ้นโดยทั่วไป ส่วนมากเป็นแร่พลอยสีเหลืองหรือบุษราคัม เขียวครามหรือ มรกตและทับทิม เป็นต้น  โดยตำนานความเชื่อ  เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า  แต่เดิมนั้นเมืองจันท์ไม่มีพลอย  อยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านได้เห็นแสงโชติช่วงเป็นดวงระยิบระยับลอยพุ่งมาตกลงที่เขาพลอยแหวน  เมื่อไปดูจึงพบวัตถุมีรัศมีส่องเป็นประกายสีเขียวอยู่ในหลุม เชื่อกันว่าเป็นแม่พลอย  จึงทำการสักการบูชากันอย่างเอิกเกริก  แต่พอจะจับแม่พลอยเท่านั้นแหละ แม่พลอยก็ปาฏิหาริย์หลุดหนี   ลอยไป  บรรดาลูกพลอยนับหมื่นก็ลอยตามไปด้วยว่ากันว่า หากใครเอา หม้อ ไห กะละมัง ครอบไว้ได้ทัน ในตอนนั้น  ก็จะได้เม็ดพลอย  ส่วนลูกพลอยที่หนีไปไม่ทันก็ตกหล่นจมดินกลาดเกลื่อนทั่วบริเวณ กลายเป็นพลอยหลากสีที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ผืนดินจวบจมปัจจุบัน

สภาพแวดล้อม                  

สภาพโดยทั่วไปของวัดเขาพลอยแหวน  ร่มรื่นไปด้วยพรรณไม้  เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของท้องทะเล  บ้านเรือน  เทือกเขา  เหมืองพลอย  นากุ้งและ  เกาะแก่ง  เหมือนกับได้เห็นสภาพภูมิประเทศของจังหวัดจันทบุรี  ในอดีต พระยาวชิระปราการหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  เคยเสด็จผ่านเชิงเขาลูกนี้ ก่อนเข้าตีเมืองจันท์ เมื่อ พ.ศ.2310  

ทำเนียบเจ้าอาวาสและผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส              

1.หลวงพ่อหมี พ.ศ. 2363     

2.พระครูสังฆปาโมกข์ (ชม) เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี พ.ศ. 2370

3.พระธรรมวงศาจารย์ (เอ๋ง) เจ้าคณะมณฑลจันทบุรี พ.ศ. 2445

4.พระอาจารย์สาย ธนากร พ.ศ. 2460 – 2461

5.พระปลัดฉันท์ คล่องใจ พ.ศ. 2461 – 2463

6.พระอาจารย์ห้าว พ.ศ. 2463 – 2467

7.พระอาจารย์อ๊อต ถามโก พ.ศ. 2467 – 2469

8.พระครูอาทรสมาธิวัตร (จริง) พ.ศ. 2469 – 2483

9.พระอธิการมูล ฐิตกุสโล พ.ศ. 2483 – 2488

10.พระอาจารย์หยด ฐานุตฺตโม พ.ศ. 2488 – 2489

11.พระอาจารย์เรือง กุสโล พ.ศ. 2489 – 2490

12.พระอาจารย์อ๊อต ฉนฺทสโร พ.ศ. 2490 – 2495

13.พระอาจารย์ชื้น จิตฺตเลโข พ.ศ. 2495 – 2498

14.พระอาจารย์อำพร อรุโณ พ.ศ. 2498 – 2502

15.พระอาจารย์จอม (หลี) ฐานุตฺตโม พ.ศ. 2502 – 2505

16.พระอธิการบุญเหลือ ไพพินิจ พ.ศ. 2505 – 2515

17.พระอาจารย์โยธิน จิตตภาวัน พ.ศ. 2515 – 2516

18.พระอาจารย์ถมยา โฆสโก พ.ศ. 2516 – 2518

19.พระครูถาวรธรรมุเทศก์ (ก่วง ถาวโร) พ.ศ. 2518 – ปัจจุบัน

เจ้าอาวาส               

พระครูถาวรธรรมุเทศก์  เดิมอยู่วัดบ่อพุ  เมื่อเจ้าอาวาสวัดเขาพลอยแหวน  ได้ลาสิกขาบทไป แล้ว ท่านเจ้าประคุณพระพิศาลธรรมคุณ  เจ้าคณะอำเภอท่าใหม่พร้อมด้วยทายกทายิกา  ได้นิมนต์มาอยู่ วัดเขาพลอยแหวน  เมื่อวันที่  17  กรกฎาคม พ.ศ. 2518
                  วันที่  1  กันยายน พ.ศ. 2519            ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส
                  วันที่  1  ตุลาคม   พ.ศ. 2520            ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลบ่อพุ
                  วันที่  5  ธันวาคม  พ.ศ. 2524           ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัติ  ได้รับพระราชทินนามว่า  พระครูถาวรธรรมุเทศก์
                  วันที่  26  มกราคม พ.ศ. 2526 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
                  วันที่  5  ธันวาคม   พ.ศ. 2532 เลื่อนสมณศักดิ์เป็น เจ้าคณะตำบลชั้นโท

โบราณสถานที่สำคัญ           

รัตนคีรีเจดีย์  ซึ่งพระยาจันทบุรี  ได้มีจิตศรัทธาสร้างไว้  (ภายหลังได้เป็นพระยาไกรโกษา)  ในสมัยที่ได้มาเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดจันทบุรี  เมื่อ จ.ศ.1198 (พ.ศ.2374) หลังการย้ายเมืองมาตั้งใหม่ที่ค่ายเนินวง  2  ปี  สร้างเป็นเจดีย์ทรงลังกา  สูง 6 วา 3 ศอก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 4 เคยเสด็จธุดงค์ขณะทรงผนวชเป็นพระภิกษุ หลังขึ้นเสวยราชสมบัติได้โปรดเกล้าให้  พระยาวิไชยธิปดี ศรีรณรงค์ฤาชัย (โต บุนนาค)  ซึ่งเป็นพระยาจันทบุรี  บรรจุพระบรมธาตุมีนามว่า “รัตนคีรีเจดีย์” และต่อมา พ.ศ.2495 มีการบูรณะปฏิสังขรองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่   เป็นฐานกว้าง 6 วา สูง 7 วา 3 ศอก  กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม  2530 (ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่104  ตอนที่ 143) ระบุว่ามีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ 92 ตารางวา

มณฑปรูปทรงจัตุรมุข สูง 7 วา ฐานมณฑปกว้างยาว 4 วา 2 ศอก ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองเป็นทองเหลือง ซึ่งสร้างแทนรอย  พระพุทธบาทเดิม  ซึ่งเป็นศิลาทรายลักษณะเดียวกับที่พบ ณ วัดสระบาป  สันนิษฐานว่า เป็นศิลาที่เคลื่อนย้ายมาจากเมืองเพนียด  หน้าวัดทองทั่ว ปัจจุบันศิลาชิ้นนี้แตกหักเก็บรักษาไว้ในศาลาข้างรัตนคีรีเจดีย์ 

มณฑปแห่งนี้ได้มีบุคคล  ในตระกูลศรีบุญเรืองบางคน  เช่น นายชองแป๊ะ นายชองกุ่ย มีจิตศรัทธาสร้างขึ้น  ด้วยมุ่งหมายว่า  จะบรรจุรอยพระพุทธบาทจำลองไว้  เมื่อถึงฤดูกาลก็จะเปิดให้ประชาชนมามนัสการเป็นงานประจำปี  แต่ขาดทุนทรัพย์มณฑปบนยอดเขา พลอยแหวน  จึงก่อสร้างไม่แล้วเสร็จจนทุกวันนี้  และเมื่อ  พ.ศ.2419   พระพุทธเจ้าหลวง  รัชกาลที่ 5  ได้เสด็จประพาสเขาพลอยแหวน  แต่มิได้เสด็จขึ้นไปที่องค์พระเจดีย์  ทรงพระราชนิพนธ์เปรียบเทียบเขาพลอยแหวนว่า  คล้ายกับเขาสัตนารถ  ที่ จ.ราชบุรี

Q&A / ช่องทางการติดต่อ